มองดูภาพเก่า แต่ไม่รู้ความเป็นมาทำให้ภาพนั้นๆ ขาดคุณค่าไป ผลงาน เอนก นาวิกมูล ผู้หยิบภาพแต่ละภาพขึ้นมา หาที่มาที่ไปของมัน, และจับเรียงลงในหน้าที่ถูกต้องของอัลบั้มประวัติศาสตร์ โดยหลักการทำงานที่ว่า “นำเสนอข้อมูลใหม่ตรวจสอบข้อมูลเก่า” บอกแหล่งข้อมูลอย่างถี่ถ้วนชัดเจน ภายในเล่มจะให้ความรู้เรื่องประวัติ และภาพเก่า อาทิ หอกลอง ในสวนเจ้าเชต กรุงเทพฯ, หลวงอุดมสมบัติ (จัน) ผู้มีความจำดีเยี่ยม ถ่ายราวต้นสมัย ร.๕, เจ้าพระยายมราช (เฉย ยมาภัย) เสนาบดีจตุสดมภ์กรมเมือง ถ่ายก่อน พ.ศ. ๒๔๒๔, เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (บญรอด กัลยาณมิตร) ถ่ายเมื่อเป็นข้าหลวงใหญ่ไปทำหนังสือสัญญาที่ไซ่ง่อน พ.ศ. ๒๔๑๓, พระราชพิธีลงสรงสนาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ณ ท่าราชวรดิฐ, การพระเมรุสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตมธำรง และพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสาวภาคย์นารีรัตน์ ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๑, กระบวนพยุหยาตราเลียบพระนคร เมื่อวันอังคารที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๐ คราวพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร, พระที่นั่งภูวดลทัศไนย พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ถนนสนามไชย และท้องสนามไชย ฝีมือหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) เป็นต้น
หนังสือในชุด ภาพเก่าเล่าตำนาน มีทั้งหมด ๔ เล่ม คือ ๑.ภาพเก่าเล่าตำนาน ฉ.ปรับปรุง, ๒.ตำนานในภาพเก่า ฉ.ปรับปรุง, ๓.อ่านภาพเก่าเมืองไทย และ ๔.เล่าเรื่องภาพเก่าเมืองไทย โดยรวมแล้วจะมีภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นจำนวนมาก ในเล่มจะมีภาพหลักหรือภาพประธาน และภาพรองหรือภาพบริวารเพื่อขยายความเข้าใจ จึงทำให้ไม่ต้องเสียเวลานึกภาพหน้าคนนั้น หน้าคนนี้ สถานที่นั้น สถานที่นี้ การถ่ายทอดเรื่องราวพร้อมภาพเก่าที่เป็นเอกลักษณ์ของ เอนก นาวิกมูล จึงทำให้หนังสือเล่มนี้หรือที่จะตามมาอีก ๓ เล่มมิใช่การรวมภาพเก่าอย่างเดียว แต่เป็นหนังสือที่สอบค้นไปถึงเรื่องราวในอดีตโดยมีภาพเก่าเป็นเพียงตัวนำเรื่องราวและเป็นเพียงภาพประกอบเรื่องเท่านั้น การที่ทำเช่นนี้ให้ปรากฏต่อสาธารณชนจึงกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่า “สมค่าที่มีอยู่” นับเป็นจุดเริ่มต้นเป็นการสอบค้นประวัติศาสตร์เพื่อจะหาที่ทางใหกับภาพเหล่านั้น ภาพเก่าจำนวนมหาศาลที่ลับลี้จึงได้แสดงค่าของมันดังปรากฏอยู่ในเล่ม